Sections
เกษตรกรรม คือ อาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม ในบางครั้งความทันสมัยของเทคโนโลยีก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและดิน การทำเกษตรอินทรีย์ จึงเข้ามาเป็นทางเลือกและมีบทบาทสำคัญต่ออาชีพเกษตรกรรม
เกษตรอินทรีย์ คืออะไร
เกษตรอินทรีย์ คือการทำเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติ หลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อความสมบูรณ์ทางชีวภาพในระบบนิเวศน์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามสมดุลของธรรมชาติให้มากที่สุด มุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบให้ได้ผลผลิตสูง อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารและปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และสามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
เกษตรอินทรีย์ ภาษาอังกฤษ ได้แก่ organic farming หมายถึง การทำเกษตรกรรมแบบหนึ่งที่อาศัยเทคนิคการปลูกพืชหมุนเวียน การปรับปรุงบำรุงดินด้วยการเลือกใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก และการควบคุมสัตว์รังควานทางชีวภาพ
หลักการและแนวทาง การทำเกษตรอินทรีย์
- หลักการผลิตพืชอินทรีย์
- พื้นที่ที่จะทำการเกษตรนั้นต้องไม่เคยทำการเกษตรเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
- พื้นที่ควรมีลักษณะค่อนข้างดอนและโล่งแจ้ง
- พื้นที่ต้องอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม
- พื้นที่ห่างจากถนนหลวงหลัก
- พื้นที่มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ
- ข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ คือ เกณฑ์ข้อกำหนดที่เกษตรกรผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตาม และหน่วยงานรับรองจะใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจประเมินการผลิต และตัดสินใจในการรับรองฟาร์มที่ได้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานนั้น ๆ ซึ่งมีด้วยกัน 6 ประการ ได้แก่
- ระบบนิเวศการเกษตร โดยระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ต้องเอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้ม
- การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ โดยแผนการปรับเปลี่ยนจะต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน โดยอาจจะปรับเปลี่ยนฟาร์มทั้งหมดเข้าสู่เกษตรอินทรีย์พร้อมกัน หรือค่อยๆ ปรับเปลี่ยนบางส่วนของฟาร์มเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ก็ได้ ซึ่งในช่วงระยะปรับเปลี่ยนอาจใช้เวลา 12 – 36 เดือนขึ้นอยู่กับมาตรฐาน
- การผลิตพืช ควรเลือกปลูกพืชที่หลากหลายชนิดและพันธุ์ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนของนิเวศฟาร์ม การปลูกพืชหลากหลายพันธุ์ ยังเป็นการช่วยรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมพืชไว้ด้วย
- การจัดการดินและธาตุอาหาร มีเป้าหมายเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งรวมถึงการจัดการให้มีธาตุอาหารอย่างเพียงพอกับพืชที่เพาะปลูก และเพิ่มพูนอินทรียวัตถุให้กับดินอย่างต่อเนื่อง
- การป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศการเกษตร ที่ทำให้พืชที่เพาะปลูกพัฒนาภูมิต้านทานโรคและแมลง
- การป้องกันมลพิษ การปนเปื้อน และการปะปน ผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์จะต้องมีมาตรการในการป้องกันมิให้ดินและผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปนเปื้อนจากมลพิษ และสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งรวมถึงโลหะหนัก และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งมีมาตรการในการลดการปนเปื้อน
เกษตรอินทรีย์ ผสมผสาน คืออะไร
เกษตรอินทรีย์ ผสมผสาน คือ ระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิดสามารถเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลของสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเกิดผลในการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้หลักการพื้นฐานของระบบเกษตรกรรมแบบผสมผสาน 2 ประการสำคัญ คือ
- ต้องมีกิจกรรมการเกษตรตั้งแต่ 2 กิจกรรมเป็นต้นไป
- มีการเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกิจกรรมเกษตรต่าง ๆ
สรุป
เกษตรอินทรีย์ เกิดจากการใช้ทรัพยากรดินทำการเกษตรโดยไม่คำนึงถึงผลเสียของปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ จนก่อให้เกิดความไม่สมดุลในแร่ธาตุของดินตามธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในดินนั้นสูญหาย และไร้ประสิทธิภาพ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ และหลักการสำคัญต่าง ๆ สามารถช่วยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรให้เป็นเกษตรอินทรีย์ได้ไม่ยาก
งานวิจัยอ้า่งอิง : Organic Farming | Sustainable Agriculture Research & Education Program (ucdavis.edu)