Sections

ปัญหาจากขยะในครัวเรือน โดยเฉพาะเศษอาหาร เศษผัก และเปลือกผลไม้ หากไม่มีการจัดเก็บการขนและกำจัดขยะที่เป็นระบบ ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน จากปัญหาการเน่าเสียทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและแมลงวัน แนวทางกำจัดขยะเหล่านี้ได้แก่การนำไปเลี้ยงสัตว์ และทำปุ๋ยหมักซึ่งทำหลายรูปแบบ ปุ๋ยหมัก คืออะไร และนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
ปุ๋ยหมัก คืออะไร
ปุ๋ยหมัก หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการนำซากพืชหรือเศษเหลือจากพืชผัก เศษอาหาร และเปลือกผลไม้ มากองรวมกัน แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดกระบวนการย่อยสลายตัวจนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมจนอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย มีลักษณะเป็นปุ๋ยหมักที่หมักจนสมบูรณ์ เช่น
- สีของปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ จะมีสีเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีดำหรือน้ำตาล
- ปกติอุณหภูมิภายในกองปุ๋ยจะร้อนมาก แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง กระบวนการหมักสมบูรณ์แล้วอุณหภูมิภายในกองปุ๋ยจะเย็นลง
- ลักษณะของเศษพืช เศษอาหารหรือเปลือกผลไม้ จะอ่อนนุ่ม ยุ่ย ขาดออกจากกันได้ง่าย ไม่แข็งกระด้าง และไม่เป็นก้อน
- ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ จะมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดิน ส่วนปุ๋ยหมักที่ยังมีกลิ่นฉุน หรือกลิ่นพืชผักและกลิ่นเปลือกผลไม้ชนิดต่าง ๆ แสดงว่ากระบวนการย่อยสลายของปุ๋ยหมักยังไม่สมบูรณ์
- มีต้นพืชเกิดและสามารถเจริญเติบโตบนกองปุ๋ยหมักได้ แสดงว่าปุ๋ยหมักย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว
ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ หมายถึงอะไร
จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่มีประโยชน์และมีบทบาทสำคัญต่อการเกษตรกรรมมีหลายชนิด เช่น ช่วยในการเร่งฟื้นฟูและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับการปลูกพืชผัก ส่วน ปุ๋ยจุลินทรีย์ ก็คือการนำเอาจุลินทรีย์มาใช้ปรับปรุงดินทางชีวภาพ กายภาพ ทางเคมีชีวะ และทางการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ หรือหมายถึงจุลินทรีย์ที่นำมาใช้เพื่อกระต้นการเจริญเติบโต หรือเพิ่มความต้นทานของโรคพืช
ปุ๋ยหมักมีอะไรบ้าง
ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยที่ได้จากกระบวนการหมัก ปุ๋ยหมักจะต้องผ่านการย่อยสลายทางชีววิทยาอย่างสมบูรณ์ โดยทั่วไปชนิดของปุ๋ยหมักหากแบ่งตามส่วนผสม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ปุ๋ยหมักทั่วไป และปุ๋ยหมักชีวภาพ
1. ปุ๋ยหมักทั่วไป หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำวัสดุอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ เช่น ฟางข้าว พืชผัก เศษอาหาร เปลือกผักผลไม้ มาหมักตามกระบวนการทางธรรมชาติ โดยไม่มีการเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเร่งการหมัก ซึ่งการหมักจะเกิดการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุจากจุลินทรีย์ ทำให้มีการปลดปล่อย ธาตุอาหารออกมาได้รวดเร็วขึ้น
2. ปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นวิธีการทำปุ๋ยหมักธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดินโดยการนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้ผสมคลุกเคล้าหมักรวมกับมูลสัตว์ แกลบดำ รำละเอียดคลุมด้วยกระสอบป่าน เป็นการทำที่ง่ายและใช้เวลาประมาณ 3 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้ สำหรับปุ๋ยหมักชีวภาพยังแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น
- ปุ๋ยหมักจากปุ๋ยคอก
- ปุ๋ยหมักจากพืช
- ปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษอาหาร และขยะ

ปุ๋ยหมักมีประโยชน์อย่างไร
- ปุ๋ยหมักช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- ช่วยในการย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ในดิน ทำให้ธาตุอาหารถูกพืชนำไปใช้ได้รวดเร็วขึ้น
- ช่วยทำให้ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกมีลักษณะเป็นร่วนซุย ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี
- ช่วยทำให้หน้าดินมีแร่ธาตุอาหาร และเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน
- ปุ๋ยหมักช่วยควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยได้ ทำให้โรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอยจึงลดน้อยลง
- อินทรียวัตถุในปุ๋ยหมักจะช่วยเสริมความทนทานของเม็ดดิน ผิวหน้าดินไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง ดีต่อการไหลผ่านของน้ำและการรักษาความชุ่มชื้นในดิน
- ช่วยดูดซับความชื้นไว้ในดินให้นานขึ้น ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา
การทำปุ๋ยหมัก มีวิธีการและขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก และนอกจากมีประโยชน์เกษตรกรแล้ว ยังเป็นการกำจัดขยะที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ซึ่งส่งต่อสุขภาพและคุณสภาพชีวิตของผู้คน รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิตหรือลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี
งานวิจัยอ้างอิง : Making and Using Compost, G6956 | MU Extension (missouri.edu)